The Creator ภาพยนตร์แอ็กชัน ไซ-ไฟ ฟอร์มยักษ์สุดลุ้นระทึกที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามในอนาคตระหว่างมนุษย์และเอไอ โจชัว (วอชิงตัน) เจ้าหน้าที่พิเศษที่ยังคงโศกเศร้ากับการหายไปของภรรยาตัวเอง (ชาน) ได้รับเลือกให้ไปทำภารกิจตามล่าและฆ่า เดอะ ครีเอเตอร์ ผู้ออกแบบเอไอระดับสูง ที่กำลังอยู่ในระหว่างการผลิตอาวุธสังหารลับเพื่อยุติสงครามในครั้งนี้ รวมไปถึงยุติเผ่าพันธุ์มนุษย์เช่นกัน โจชัวและทีมของเขา จะต้องเดินทางผ่านเขตของศัตรูไปสู่ใจกลางอันดำมืดของพื้นที่ที่มีเพียงเอไออาศัยอยู่เท่านั้น แต่พวกเขากลับพบว่า อาวุธสังหารลับที่เขาได้รับคำสั่งให้ทำลายทิ้งคือเอไอในร่างเด็กหญิงคนหนึ่ง (วอยลส์)

แม้ที่ผ่านมา แกเร็ท เอ็ดเวิร์ดส์ (Gareth Edwards) จะเป็นผู้กำกับสายหนังไซไฟที่กำกับหนังมาแค่ 4 เรื่องเท่านั้น แต่ 3 เรื่อง ไล่ตั้งแต่เรื่องแรก ‘Monsters’ (2010) งานไซไฟสยองขวัญทุนต่ำ 500,000 เหรียญ ก่อนกระโดดมาจับแฟรนไชส์ไซไฟฟอร์มยักษ์ทั้ง ‘Godzilla’ (2014) และผลงานที่ลือลั่นก็คงหนีไม่พ้น ‘Rogue One: A Star Wars Story’ (2016) ที่ได้รับคำชมอย่างท่วมท้น ปีนี้ เอ็ดเวิร์ดส์ขอกลับมาจับงานไซไฟออริจินัลของตัวเองอีกครั้งใน ‘The Creator’

ตัวหนังได้ คริส ไวซ์ (Chris Weitz) ผู้เขียนบทร่วม และ เกร็ก เฟรเซอร์ (Greig Fraser) ผู้กำกับภาพจาก ‘Rogue One’ มาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ที่น่าสนใจคือ การใช้โลเคชันสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยกว่า 40 สถานที่จาก 16 จังหวัด ใน 212 ฉาก นอกจากนี้ก็ยังมีคนไทยไปร่วมทำงานด้าน Production Service และเป็นนักแสดงประกอบด้วย น่าจะเป็นหนังฝรั่งที่มีชื่อคนไทยในเครดิตมากที่สุดเรื่องหนึ่งแล้วล่ะ

The Creator เดอะ ครีเอเตอร์ Courtesy of 20th Century Studios

หนังเล่าเรื่องในอนาคตในปี 2070 สหรัฐอเมริกาประสบเหตุระเบิดนิวเคลียร์โจมตีลอสแองเจลิส คาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของ AI รัฐบาลจึงเร่งเปิดฉากสงครามทำลายล้าง AI ให้สิ้นซาก โจชัว (จอห์น เดวิด วอชิงตัน – John David Washington) อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษผู้สูญเสียภรรยา มายา (Gemma Chan – เจมมา ชาน) ถูกเลือกให้กลับมารับหน้าที่ตามล่า เนอร์มาตา (Nirmata) ผู้สรรสร้างที่คาดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง AI ทั้งมวล ที่อาศัยอยู่ใน ‘นิวเอเชีย’ ดินแดนที่ยังคงมีคนและ AI ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข แต่แล้วเขากลับพบว่า อาวุธทรงพลังที่กองทัพหมายหัว กลับเป็นเพียง AI เด็กน้อยที่มีชื่อว่า แอลฟี (เมเดลีน ยูนะ วอยเลส – Madeleine Yuna Voyles)

ความโดดเด่นและสดใหม่ของหนังไซไฟเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นภาพของการแบ่งโลกออกเป็น 2 ฟากฝั่งทางความคิดที่สะท้อนไปถึงวัฒนธรรม และความขัดแย้งทางแนวคิดเกี่ยวกับ AI และในทางการเมือง ฝั่งนิวเอเชียคือตัวแทนของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่โอบรับ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภาพของโลกอนาคตแบบ Cyberpunk ท่ามกลางทุ่งนาป่าเขา ชนบท สถานที่และบรรยากาศแบบไทย ๆ จึงเป็นอะไรที่โคตรล้ำ แปลกตา และมีเอกลักษณ์มาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ดูกลมกลืนมาก ๆ ชนิดที่เด็กวิ่งเล่นกับหุ่นยนต์ได้แบบไม่ตกใจ จนผู้เขียนแอบรู้สึกว่าฉากต่าง ๆ นี่คือผลจากการ Prompt คำสั่งให้ Midjourney คอย Generate ออกมาแน่ ๆ

ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า อเมริกากลายเป็นตัวแทนของมนุษย์เสรีนิยม (หรือตำรวจโลก) ที่ต้องการกำจัดศัตรูผู้รุกรานชาติ (ซึ่งจะพาลให้นึกไปถึง 9/11 ก็ไม่แปลก) หรือในแง่ของการเป็นตัวร้าย ในขณะที่นิวเอเชียนั้นเชื่อว่า AI ไม่ต่างจากคน มีความรู้สึก ความสัมพันธ์ สังคม ศาสนา ฯลฯ (มี AI บวชเป็นพระด้วย!) แต่อเมริกากลับมองเห็น AI เป็นเพียงเครื่องมือจักรกลที่วิวัฒน์ตัวเอง และพร้อมจะคุกคามมนุษยชาติได้ตลอดเวลา ซึ่งข้อขัดแย้งนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วในโลกปัจจุบัน (เผลอ ๆ AI ในชีวิตจริงนี่จะอันตรายกว่าในหนังอีกนะ (555)

แต่แม้ว่าจะวางท่าทีให้มีความเป็นไซไฟล้้าจัด ๆ แต่ตัวหนังเองก็ไม่ได้วางตัวให้เป็นหนังขบเค้นปรัชญาอะไรขนาดนั้นนะครับ เพราะตัวหนังเองถูกวางพล็อตเอาไว้แบบง่าย ๆ เดินเรื่องค่อนข้างเร็ว ในบรรยากาศและพล็อตแนวหลังโลกล่มสลาย (Post-Apocalypse) หรือแนว Dystopia ที่ชวนให้นึกถึงการอ้างอิงจากหนังและอนิเมะหลายเรื่อง ตั้งแต่ ‘Blade Runner’ (1982), ‘Akira’ (1988), ‘E.T. the Extra-Terrestrial’ (1982), ‘A.I. Artificial Intelligence’ (2001), ไตรภาค ‘The Matrix’, ‘Avatar’ (2009) ฯลฯ

รวมทั้งงานก่อนหน้าของเขาเองอย่าง ‘Rogue One’ ที่ยังหยิบเอากลิ่นอายมาใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้อย่างชัดเจน หรือแม้แต่พล็อตแนวเด็ก-ผู้ใหญ่ผจญภัยแบบซามูไรพ่อลูกอ่อน ในขณะที่ยานโนแมด (Nomad) อาวุธทรงอานุภาพของอเมริกาที่มีเรดาร์สำหรับใช้ค้นหา และยิงมิสไซส์ทำลายศัตรูในเรื่อง ก็ชวนให้นึกถึงดาวพิฆาต (Death Star) ใน ‘Star Wars’ ที่จักรวรรดิกาแล็กติกใช้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุได้เหมือนกัน

อันที่จริงพล็อตแนวสงครามระหว่างคนกับ AI และพล็อตแนวผจญภัยลักพาตัวเด็กอาจจะไม่ใช่พล็อตที่สดใหม่เสียทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในฐานะคนไทย การได้เห็นฉากและองค์ประกอบความเป็นไทย ได้ยินมุกที่มีแต่คนไทยเข้าใจในหนังฮอลลีวูด ได้เห็นภาพว่าเมืองไทยมันเท่ขนาดนี้ได้ด้วย แค่นี้ก็นับว่าตื่นเต้นไม่น้อยแล้วล่ะ ส่วนเหล่านักแสดงก็เจ๋งมาก ทั้ง จอห์น เดวิด วอชิงตัน ที่เล่นดราม่าเอาอยู่, เจมมา ชาน ลุคนี้สวยเสน่ห์ขึ้นกล้องมาก ส่วนน้องเมเดลีน ก็โดดเด่นและเล่นพาร์ตดราม่าได้ดูดีมีแววมาก

The Creator เดอะ ครีเอเตอร์ Courtesy of 20th Century Studios

อีกอย่างคือ เห็นเป็นหนังไซไฟแบบนี้ แต่จริง ๆ ใช้ทุนแค่ 80 ล้านเหรียญเองนะครับ หนังไซไฟยุคนี้ ขั้นต่ำ ๆ ก็ต้อง 150-200 ล้านเหรียญขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเน้นถ่ายในโลเคชันจริงเป็นหลัก ผสานกับงานวิชวลที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบทีเดียว มีแอบหลุด ๆ บ้างแต่ถือว่าน้อย

รวมทั้งการใช้กล้อง Sony FX3 กล้อง Cinema Line รุ่นเริ่มต้นขนาดเล็กที่ถ่ายทำได้คล่องตัว แต่บันทึกภาพได้ในระดับ IMAX ในอัตราส่วน 2.76 : 1 ซึ่งก็ต้องชมว่างานด้านภาพทำออกมาได้เกินคาด เพียงแต่ด้วยคุณภาพ ความลึกของภาพโดยรวมอาจจะไม่ได้ถึงกับว้าว ดูระบบ IMAX ฟังงานสกอร์ทรงพลังของ ฮันส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) ก็นับว่าคุ้มค่า แต่ถ้าดูในระบบปกติก็ไม่ได้ถึงกับน่าเสียดายอะไร

ตัวบทหนังทำออกมาแบบดูได้เพลิน ๆ นะครับ มีการเล่าเรื่องแบ่งเป็นองก์ย่อย ๆ เอาไว้ บทพยายามสอดแทรกความเป็นหนังแอ็กชันไซไฟ ผจญภัย ดราม่า แทรกมุกฮาเล็ก ๆ ที่ดูได้ง่ายทั้งครอบครัว มีฉากเกือบเจ็บตับนิดหน่อย แต่พอมันยืม Reference จากหนังไซไฟรุ่นพี่มาค่อนข้างเยอะ ทำให้พล็อตจึงไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างหรือฉีกแหวกไปจากสิ่งที่คอหนังไซไฟคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

อีกจุดคือ การดำเนินเรื่องในองก์หลัง ๆ ที่พยายามปูเรื่องเพื่อเร้าอารมณ์บางอย่าง แต่กลับถูกเล่าแบบแค่ให้พอเข้าใจ แต่ไม่ได้ชวนให้รู้สึกเชื่อในเหตุผลของตัวละครได้มากนัก กลายเป็นช่องโหว่ใหญ่ ๆ หลายจุด ทำให้หนังเรื่องนี้ยังไม่สามารถถ่ายทอดความมีหัวจิตหัวใจ เติมความเป็นปรัชญาลึกซึ้งของตัวหนังและตัวละครออกมาได้สมบูรณ์แบบนัก รวมทั้งพล็อตบางจุดที่ดูรวบรัดตัดความเกินไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังเป็นหนังไซไฟออริจินัลที่มีครบเครื่อง ทั้งฉากที่ตื่นตาตื่นใจเกินจินตนาการ และเนื้อเรื่องที่ดูได้แบบเพลิน ๆ ครบทุกอารมณ์ เป็นหนังไซไฟที่ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยจะดูจนจบ End-Credits แน่นอน

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *